วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552

นินทานั้นไม่มีโทษ...แก่ผู้ถูกนินทาเลย

ผู้ถูกนินทาพึงมีเหตุผล

คำนินทาใดๆ ไม่อาจทำคนดีให้เป็นคนไม่ดีไปได้ คนจะดีก็เพราะกรรม คนจะเลวก็เพราะกรรม หาใช่จะดีเพราะสรรเสริญ หรือจะเลวเพราะนินทาก็หาไม่

ควรถือความจริงนี้เป็นสำคัญ และอย่าทำหรือไม่ทำอะไรเพราะกลัวนินทาหรือเพราะปรารถนาสรรเสริญ อย่าทำอะไรก็ตามทุกอย่างที่แม้เพียงสงสัยว่าเป็นกรรมไม่ดี แต่จงทำอะไรก็ตามทุกอย่างที่พิจารณาแล้วตระหนักแน่ชัดว่าเป็นกรรมดีเท่ากัน แม้ว่าการทำกรรมดีจะมีผู้นินทา

นินทานั้นไม่มีโทษแก่ผู้ถูกนินทาเลย ถ้าผู้ถูกนินทาไม่รับ คือไม่ตอบ เช่นเดียวกับผู้ถูกด่าไม่ด่าตอบ ผู้ถูกขู่ไม่ขู่ตอบ ผู้ถูกชวนวิวาทไม่วิวาทตอบ แต่คำนินทาว่าร้ายทั้งจะตกเป็นของผู้นินทาทั้งหมด ผู้นินทาคือผู้ทำกรรม ซึ่งเป็นกรรมไม่ดี ไม่ว่าผู้ถูกนินทาจะรับหรือไม่รับก็ตาม ผู้นินทาย่อมได้รับผลไม่ดีแห่งกรรมไม่ดีของเขาอย่างแน่นอน

ดังนั้นแม้เมื่อถูกนินทาแล้ว ก็ให้คิดว่าผู้นินทาเราได้รับการตอบแทนแล้ว คือได้รับผลของกรรมไม่ดี ซึ่งจะส่งผลให้ปรากฏช้าหรือเร็วเท่านั้น ผลของกรรมไม่ดีนั้นแหละได้ตอบแทนเขาผู้นินทาแล้ว เราไม่มีความจำเป็นต้องตอบแทนแต่อย่างใด
ความเชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรมมีคุณอย่างที่สุด ผู้ใดทำกรรมไว้จักได้รับผลของกรรมนั้น ความเชื่อเช่นนี้จักทำให้ไม่คิดร้ายตอบผู้คิดร้าย เป็นการระงับเวรภัยไม่ให้เกิดแก่ตน เป็นการป้องกันตนมิให้ทำกรรมไม่ดี ทั้งทางกายวาจาและใจ โดยมุ่งให้เป็นการแก้แค้นตอบแทน ผลจักเป็นความสงบสุขแก่ตนและแก่ผู้อื่นด้วย

ที่มา : การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่ : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ความสำคัญของอธิษฐานบารมี

ถาม : แล้วเราอธิษฐานช่วยคนอื่นได้มั้ยคะ ?
ตอบ : ถ้าหากว่าถึงระดับที่ว่าจบกันไปแล้วมันจะเกิดฤทธิ์อย่างหนึ่ง เขาเรียกว่า อธิษฐานฤทธิ์ กับบุญฤทธิ์ ๒ อย่างนี่สามารถช่วยคนได้


ถาม : ถ้ายังไม่ถึงก็ไม่ควรใช่มั้ยคะ ?
ตอบ : ถ้ายังไม่ถึงช่วยได้แต่มันก็ได้น้อย


ถาม : เพราะว่าอย่างแม่เขาจะเป็นโรครักษาไม่หายซักที เสร็จแล้วอย่างหนูสวดมนต์หรือคนอื่นเขาจะทำบุญนี่หนู ๆ ก็จะ...(ไม่ชัด) ?
ตอบ : ไม่เป็นไร ทุกครั้งก็บอกให้เขาโมทนาอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรเขาด้วย ทำไปเรื่อย ๆ ทีละนิดทีละหน่อยดีกว่า ถ้าหากว่าไปแก้กรรมประเภทที่ว่าไม่ถูกต้องตามศีลตามธรรมเดี๋ยวจะเสียหายกันยกใหญ่เพราะมันจะเรียกกันเยอะ ๆ


ถาม : ก็จะมีเพื่อนแนะนำให้ไปวัดโน้นวัดนี้บ้างแต่ก็ไม่กล้าไป ?
ตอบ : ลำบากหน่อย ถ้าหากว่าไม่มั่นใจก็ย่อง ๆ ไปดูเขาก่อนอย่าเพิ่งพาคนไข้ไป ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เข้าไปเหมือนนักท่องเที่ยวคนหนึ่ง ไปสังเกตการณ์ก่อนก็ได้ ถ้ายิ่งได้ทิพจักขุญาณก็ดูมันเลย ดูมันทำได้จริงหรือเปล่า ?


ถาม : แล้วอย่างหนูทำบุญทุกวันหยอดเงินบาทหนึ่ง หยอดเงินหน้าหิ้งพระค่ะ แล้วหนูยังไม่ได้เอามาถวายถือเป็นการทำบุญหรือเปล่าคะ ?
ตอบ : เป็นแล้ว เพราะว่าเราตั้งใจอยู่แล้วว่าเงินส่วนนี้จะทำบุญ ถ้าหากว่าเราตายตอนนั้นผลบุญอันนั้นเราได้เลย แต่พระขาดทุน เพราะยังไม่ได้รับสตางค์ (หัวเราะ) อันนี้ไม่ต้องกังวล อันนี้เป็นบุญอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าของเรานี่ เจตนามันเป็นบุญอยู่แล้ว พอเราได้ทำไปผลบุญนั้นก็เป็นอันสำเร็จแล้ว มันก็เหลืออยู่เพียงว่ามีวาระมีโอกาสก็เอาเงินนั้นมาถวายพระ เพราะฉะนั้นห้ามตายก่อน ตายก่อนพระขาดทุน


อธิษฐานบารมีนี่สำคัญนะ เป็นบารมีที่สำคัญมาก คนที่ไม่ถึงระดับปรมัตถบารมีใช้อธิษฐานไม่เป็นด้วยซ้ำไป บางคนก็เข้าใจผิดว่า อธิษฐานบารมี อย่างเช่นว่า ทำบุญแล้วขอให้เป็นนั่นขอให้เป็นนี่ ขอให้ได้นั่นขอให้ได้นี่ปรากฏว่าเป็นการโลภเขาไปคิดอย่างนั้น อันนั้นไม่ใช่ อธิษฐานบารมีเป็นการเจาะจงว่าผลบุญที่เราทำจะให้มันเกิดอะไร จะให้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ สำหรับตัวเราเป็นการเจาะจงเวลา ถ้าหากว่าเราต้องการของอย่างหนึ่งตอนนี้ ถ้าเราไม่ตั้งใจไว่กอนมันมาอีกโน่นปี ๒ ปี ข้างหน้า ซึ่งไม่มีประโยชน์กับเราแล้ว


อธิษฐานบารมีเป็นการยิงปืนเล็งเป้าเพื่อให้ถูกต้องเป้าหมาย ถ้าหากยิงเหวี่ยงแหส่งเดชไปมันอาจจะไม่ถูกเป้าหมายเลยก็ได้ สิ่งที่เราทำไม่ว่าจะดีหรือชั่วเขาส่งผลอยู่แล้ว


อธิษฐานบารมีนี่เป็นการจำกัดว่าจะให้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เกิดผลอย่างไร มันไม่ได้โลภอะไรเลย เพียงแต่กำหนดให้มันแน่นอนลงไปเท่านั้น เรื่องของอธิษฐานบารมีนี่ถ้าหากว่าเราสร้างสาเหตุได้เพียงพอ ผลมันก็จะเกิด ทีนี้ถ้าหากว่าเหตุมันยังไม่พอผลมันก็ยังไม่เกิดหรอก


อย่างเช่นว่าน้ำขวดนี้ ยกตัวอย่างน้ำนี่ง่ายดี ถ้าหากว่าโยมสร้างเหตุเพียงพอก็คือ น้ำมันจะเต็มขวดแล้ว โยมตั้งใจอธิษฐานขอน้ำขวดหนึ่งโยมได้แน่นอน แต่ถ้าหากว่าน้ำมันแค่นี้ แล้วโยมตั้งใจขอน้ำขวดหนึ่งโยมได้แน่นอน แต่ถ้าหากว่าน้ำมันแค่นี้ แล้วโยมตั้งใจขอน้ำเต็มขวด เขาก็ให้เราไม่ได้เพราะว่ายังไม่เต็ม
เพราะฉะนั้นเราต้องทำเหตุให้เพียงพอ ผลถึงจะได้ เรื่องของธรรมะเป็นเรื่องตรงไปตรงมา


ที่หลวงพ่อโตวัดระฆัง ท่านบอกว่า ถ้าเจ้าไม่สร้างเอาไว้แล้ว เที่ยวไปขอร้องขอต่อคนอื่นเมื่อไหร่เจ้าจะได้ เพราะฉะนั้นก็เลยจำเป็นอยู่ตรงนี้ว่า เราต้องทำให้เพียงพอ ถึงเวลาอธิษฐานว่าเราต้องการอย่างไรมันถึงจะเป็นอย่างนั้น


สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

ที่มา : เว็บ กระโถนข้างธรรมาสน์

วัดที่ไปแล้วโปรดอย่าไปอีก

 

ช่วงระหว่างวันที่ ๑๖ - ๒๒ เมษายน ๒๕๕๒ ผู้เขียนมีโอกาสเข้าวัดฝีกวิปัสสนากรรมฐานที่วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ครั้งที่ ๒ จึงถือโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เล่าประสบการณ์ชีวิตคนอยู่วัดให้ผู้อ่านได้ทราบค่ะ


บทพิสูจน์คนจริง


ก่อนเดินทางหนึ่งวัน ร่างกายเริ่มมีปัญหาปวดที่ข้อเท้า และไหล่ขวา จิตใจเริ่มลังเลจะไปดีหรือไม่ อย่างไรก็ต้องไปเพราะตั้งใจไว้แล้ว อีกทั้งยังชักชวนญาติมิตรอีก ๔ คน

ถ้าผู้เขียนไม่ไปคนเดียวคนอื่นก็ไปไม่ได้เพราะไม่มีใครขับรถพาไป
วันที่ ๑๖ เม.ย. ตัดสินใจเดินทางทั้ง ๆ ที่ข้อเท้าเริ่มปวดมากขึ้น เดินไม่ถนัด ใช้เวลาขับรถยนต์จากนครปฐม เกือบ ๔ ชั่วโมงไปถึงในเวลา บ่ายสามโมง ลงทะเบียนเข้าที่พัก เห็นบัตรที่พักก็ใจหายเพราะอยู่ที่โรงเรียนปริยัติธรรม ชั้น ๓ แค่เดินชั้นล่างก็แย่แล้ว ต้องขึ้นบันไดไปถึงชั้นสาม...

จะเป็นอย่างไร อาศัยใจสู้ ฝืนเดิน แล้วก็พยายามทายา ใส่ยางยืดรัดข้อเท้าบรรเทาอาการปวด เดินเขย่งขึ้นบันไดด้วย
ความเจ็บปวด เสียวแปลบ แต่ก็ไม่ถอดใจ...


บรรยากาศการปฏิบัติ


ในที่นี้คงไม่เขียนละเอียด เล่าโดยสังเขปละกันค่ะ ประมาณ
ห้าโมงเย็น หลังจากรับประทานอาหารเย็นที่โรงทานแล้วก็ไปปฏิบัติธรรม โดยเจ้าหน้าที่แยกผู้มาใหม่กับผู้ที่เคยมาแล้วออกจากกันเริ่มเดินจงกรม ๒๐ นาที นั่งสมาธิ ๒๐ นาทีในรอบแรก และเดินจงกรม ๔๐ นาที นั่งสมาธิ ๔๐ นาที ในรอบที่สอง

ส่วนวันอื่น ๆ ตั้งแต่วันที่ ๑๗ - ๒๒ เม.ย. จะมีกิจกรรมที่เหมือนกันคือ
รอบแรก พระตีระฆังในเวลา ๐๓. ๓๐ น. ทำภารกิจส่วนตัว
จากนั้นก็ไปพร้อมกันที่ศาลา เริ่มทำวัตรในเวลา ๐๔.๐๐ น

จากนั้นก็เดินจงกรม นั่งสมาธิ รวมแล้วประมาณชั่วโมงเศษ ๆ เสร็จแล้วก็ไปรับประทานอาหารเช้าในเวลา ๐๖.๓๐ น.

รอบที่สอง เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๑.๐๐ น. (เดินจงกรม นั่งสมาธิ)
รอบที่สาม เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. (เดินจงกรม นั่งสมาธิ)
รอบที่สี่ เวลา ๑๘.๐๐ - ๒๑.๐๐ น. (ทำวัตรเย็น เดินจงกรม นั่งสมาธิ)


ความร้อนพิสูจน์ทอง ความทุกข์พิสูจน์คน


การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เดิน ๆ นั่ง ๆ ไม่ง่ายอย่างที่คิด ต้องเสวยทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส เพราะการฝึกปฏิบัติเพิ่มความเข้มข้นขึ้น เรื่อย ๆ จากรอบละ ๔๐ นาที เป็น ๔๕ นาที ๑ ชั่วโมง ๑.๑๕ ชั่วโมง และ ๑.๓๐ ชั่วโมง ใครที่ไม่เคยฝึกนั่งคงไม่รู้หรอกว่า อิริยาบถบังทุกขัง อย่างไร

(หากเราพิจารณากฎไตรลักษณ์ เราจะพบว่า ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา แต่ที่เรามองไม่เห็นเพราะมีบางสิ่งบดบังอยู่)

ในระหว่างที่เดินจงกรม นั่งสมาธิ ช่วงเสวยทุกขเวทนา รู้สึก
เบื่อหน่ายในกองขันธ์ทั้ง ๕ เห็นแต่ความทุกข์ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป เห็นการเกิดดับของจิตที่ทำงานอย่างรวดเร็ว ต้องคอยกำหนดและตามดูแลใจที่เหมือนลูกลิงที่ซุกซน บางครั้งก็เกิดอาการน้ำตาซึมด้วยความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏ อีกนานเพียงใดจึงจะข้ามพ้นห้วงมหรรณพอันยาวไกล

ฝ่าคลื่นแห่งกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปดไปได้พ้น…. นึกสงสารและเวทนาตัวเองไม่น้อย

ช่วงที่ปฏิบัติห้ามพูด ห้ามคุย เพราะต้องฝึกสติอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน การเดินต้องกุมมือไว้
ข้างหน้า ห้ามแกว่งแขน ห้ามนั่งไขว่ห้าง ห้ามยืนดื่มน้ำ ห้ามถูกเนื้อต้องตัวเพศตรงข้าม ต้องคอยระมัดระวัง
แม้แต่เด็ก ๆ ก็ห้ามแตะต้องเพราะถือพรหมจรรย์อยู่

เพื่อนนักปฏิบัติธรรมบางคน มาอยู่ได้คืนเดียวก็กลับบ้าน
ทั้ง ๆ ที่มาจากต่างจังหวัด บางคนนอนไม่หลับก็ทนไม่ไหว บางคนบอกว่าเวลานั่งเห็นวิญญาณมานั่งคุกเข่าอยู่ข้างหน้า ( ฟังแล้วก็ขนลุกไม่รู้ว่าของจริงหรืออุปาทานกันแน่)

บางคนมาจาก จ.นครราชสีมา บอกว่าอยู่บ้านเคยนั่งอยู่ในห้องแอร์เย็นสบาย มาอยู่ที่นี่ ผู้คนมากมาย อึดอัด ร้อนก็ร้อน กลับบ้านดีกว่า…..


เด็กสาวบางคนเล่าให้ฟังว่า พี่ชายมาส่งแล้วกลับไปแล้ว ไม่มีที่พักเพราะคนมากันมากโดยเฉพาะช่วงคืนวันศุกร์
(การมาปฏิบัติธรรมที่นี่จะมีสองช่วงคือ มาวันโกนและกลับวันโกนอาทิตย์ต่อไป และ มาวันศุกร์ กลับวันอาทิตย์ ซึ่งมีคนมากันมาก) ไม่มีที่พักต้องไปพักหน้าอาคารพักซึ่งที่วัดมีสุนัขมาก สุนัขก็มาเลียหน้าตา ยุงก็กัด คนก็คุย
นอนก็นอนไม่หลับ ได้แต่นอนร้องไห้น้ำตาไหล
ด้วยความอดทน…..


ส่วนผู้เขียนก็กัดฟันทน เดินจงกรม ตั้งแต่ปวดขามาก ๆ เดินไปเดินมา อาการเจ็บปวดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อเท้า หรือไหล่ก็ค่อย ๆ หายในที่สุด


ทุกคนที่มาที่วัดแห่งนี้มาด้วยวัตถุประสงค์ต่างกัน บางคนก็บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตนตั้งสัจจะไว้ บางคนก็ท้อแท้สิ้นหวังเพราะลำบากกว่าที่คาดคิด ทั้งหมดคือบทพิสูจน์คน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามหากขาดอิทธิบาท ๔ ชีวิตทั้งทางโลก
และทางธรรมย่อมล้มเหลวแน่นอน

มาแล้วไม่ต้องมาอีก
ช่วงที่ปฏิบัติ แม่ชีที่ดูแลจะคอยแนะนำการเดิน
นั่งที่ถูกต้อง และพูดเสมอว่า “มาแล้วไม่ต้องมาอีก” ให้ไปปฏิบัติที่บ้านเพราะคนมากันมาก ทำให้อึดอัดแย่งอากาศกันหายใจ บางคนมาแล้วมาอีกไม่พัฒนา ไม่รู้จักเอาจริงเอาจัง มากี่ครั้ง ๆ ก็ไม่มีประโยชน์ ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา มากัน
ตั้ง สามพันกว่าคน…..

ผู้เขียนฟังแล้วก็เห็นใจเจ้าหน้าที่ ที่มีไม่กี่คนและทำงานไม่มีวันหยุดวันแล้ววันเล่า ที่ผู้คนหลั่งไหลมาที่วัดอัมพวัน เพราะบารมีหลวงพ่อจรัญ อีกทั้งอิทธิพลของสื่อสารมวลชนในเรื่องการสแกนกรรม ผู้คนยิ่งแห่กันมาอย่างคับคั่ง…. จนไม่แน่ใจว่าศรัทธาหรือกระแสกันแน่… และบอกกับตัวเองว่า มาแล้วคงไม่มาอีก ไม่ใช่ที่นี่ไม่ดีหากแต่ดีมาก ทางวัดพยายามอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นชุดขาว ย่ามใส่ของ รองเท้าแตะ ขันน้ำพลาสติก มีให้ยืมหมด

อาหารการกินก็อุดมสมบูรณ์ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อ
ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงหลั่งไหลกันมา

แต่คนที่เคยมาแล้วก็ควรเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาปฏิบัติอย่างสะดวก สบาย ไม่อึดอัด ไม่เดือดร้อนเรื่องที่พัก และการบริการ อีกทั้งเจ้าหน้าที่จะได้ผ่อนคลายความเหนื่อยล้าบ้าง…..

มาแล้วโปรด
อย่ามาอีกเลยนะคะ

 

 

 

ที่มา : โดย คุณ ธรรมทิพย์ จาก เว็บบอร์ด พลังจิต